News
ข่าวสารทั่วไป
สธ.เผยตั้งแต่ต้นปี 68 ป่วย “อหิวาตกโรค” 2 ราย จ.ตาก - ระวัง โรคมือเท้าปาก ติดเชื้อเพิ่ม!
20/01/2568
ข่าวสารทั่วไป

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 ที่กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค และ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าว “ปีใหม่วิถีใหม่ สุขภาพไทย ปลอดภัย” ซึ่งมีทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคอื่นๆ รวมถึงภัยสุขภาพ
อหิวาตกโรค ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร อย่างอหิวาตกโรคเมื่อปี 2567 ประเทศไทยพบผู้ป่วย 11 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยในเดือนธันวาคม 2567 พบการระบาดของเชื้อในพื้นที่จ.ตาก เป็นช่วงเดียวกับที่มีการระบาดในประเทศเมียนมา ปัจจุบันประเทศไทยแนวโน้มผู้ป่วยลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนปี 2568 พบผู้ป่วยแล้ว 2 ราย เป็นคนไทยเพศหญิงอายุ 51 ปี พื้นที่กรุงเทพ และคนไทยเพศชายอายุ 90 ปี จ.ตาก ยังไม่มีผู้เสียชีวิต รวมถึง กรณีอาหารเป็นพิษ ที่เกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ก็จะต้องระวังด้วย
คำแนะนำในการป้องกันโรค 1.การรดูแลสุขอนามัยด้านอาหารและน้ำดื่มเป็นสิ่งสำคัญ ให้เลือกรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงสุกใหม่ 2.ปฏิบัติตามสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด เช่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง โดยยึดหลักกินสุก ร้อน สะอาด ใช้ช้อนกลาง ภาชนะส่วนบุคคล 3.หากมีอาการผิดปกติ เช่น ถ่ายเหลวเป็นน้ำในปริมาณมาก คลื่นไส้ อาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และ4.หากมีอาการถ่ายเหลวในระหว่างที่ยังไม่สามารถไปพบแพทย์ ให้จิบน้ำผสมสารละลายเกลือแร่บ่อยๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
โรคไข้หมูดิบหูดับ
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า โรคไข้หูดับ (ไข้หมูดิบ) ที่เกิดจากการกินเนื้อหมู เครื่องใน เลือดหมูแบบดิบหรือสุกๆดิบๆและผ่านการสัมผัสหมูหรือเนื้อหมูที่มีเชื้อแบคทีเรียก่อโรค ซึ่งสถานการณ์ในประเทศไทยจากรายงาน 5 ปีย้อนหลัง (ปี พ.ศ. 2562 – 2566) พบจำนวนผู้ป่วยเฉลี่ย 461 ราย และผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 22 ราย ส่วนในปี 2567 ผู้ป่วย 956 ราย เสียชีวิต 59 ราย อัตราป่วยตาย 0.09 ต่อแสนประชากร ตั้งแต่ 1 มกราคม2568-ปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย อาการรุนแรง 1 รายในจ.บุรีรัมย์ อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงเกิดจากการรับประทานเนื้อหมูดิบ เมนูก้อยหมูดิบและลาบเลือดหมูดิบ โดยพื้นที่เสี่ยงสูงที่พบผู้ป่วย คือ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า ผู้เสียชีวิตพบมากในกลุ่มสูงอายุ 65 ปี ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ผู้เสียชีวิตมีประวัติติดสุราร่วมด้วย ร้อยละ 40 เน้นย้ำประชาชน 1.ไม่รับประทานเนื้อหมูดิบ 2.เลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งขายที่มีมาตรฐาน 3.หลังสัมผัสเนื้อหมูล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง 4.เก็บเนื้อหมูสดแยกกับผักสดหรือของสุก ป้องกันการปนเปื้อน 5.ไม่ใช้อุปกรณ์ทำอาหารกับเนื้อหมูดิบและผักสดหรืออาหารปรุงสุกร่วมกัน
แนวโน้มผู้ป่วยโรคมือเท้าปากเพิ่มขึ้น
ด้าน พญ.จุไร กล่าวถึงโรคมือเท้าปากว่า ในปี 2567 ผู้ป่วยสะสม 92,536 ราย อัตราป่วย 142.56 ต่อประชากรแสนคน ผู้เสียชีวิต 1 คน อัตราป่วยตาย 0.001 % แนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และมีจำนวนสูงกว่ามากเมื่อเทีบลกับค่า 5 ปีย้อนหลังระหว่างปี 2562-2566 กลุ่มอายุที่มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ 1-4 ปี ,ต่ำกว่า 1 ปี และ5-9 ปี
ส่วนปี 2568 คาดว่าผู้ป่วยจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้มีผู้ป่วยสะสมแล้ว 1,440 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี และกลุ่มอายุ 10-14 ปี
แนะวิธีปฏิบัติเลี่ยงฝุ่น PM2.5
นพ.วีรวัฒน์ กล่าวว่า ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) สถานการณ์ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2567 – 8 มกราคม 2568 ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 มีค่าเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีแดง (> 75 มคก./ลบ.ม.) ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สระบุรี นนทบุรี นครพนม พิษณุโลก เพชรบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี หนองคาย นครปฐม และปทุมธานี
แนะนำประชาชน 1.ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในแอปพลิเคชัน Air4thai หรือช่องทางข่าวสารต่าง ๆ 2.ปฏิบัติตามมาตรการ “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด” หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ทำความสะอาดบ้านทุกวัน ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 ที่ได้มาตรฐาน เลี่ยงกิจกรรมภายนอกอาคาร หรือ การออกกำลังกาย ลดการใช้รถยนต์และการเผาทุกชนิด
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง:
-เตือนโรคทางเดินหายใจปี 68 “ไข้หวัดใหญ่” สูงเกินคาด! ปักหมุด 5 จุดเสี่ยง
-ไทยยกระดับ “ไข้หวัดนก” หวั่นไวรัสกลายพันธุ์สู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และข้ามสู่คน
แหล่งที่มา : https://www.hfocus.org/content/2025/01/32808