News
เหตุการณ์โรคในประเทศ
ไข้หวัดใหญ่...มาแรง ป่วยนาน..ระบาดวงกว้าง
11/12/2566
เหตุการณ์โรคในประเทศ

นอกจากโควิด-19 แล้ว โรคที่รุนแรงไม่แพ้กันเห็นจะเป็น “ไข้หวัดใหญ่” หรือ Influenza ที่หากป่วยแล้วมีความรุนแรงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบ หืด โรคหัวใจ มะเร็ง ความดันโลหิตสูง ฯลฯ
ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ รวมถึงจมูก ลําคอ และปอด โดยปกติสามารถหายได้เอง แต่หากเกิดภาวะ แทรกซ้อนก็อาจจะทำให้เป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้
สาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่ คนทั่วไปอาจสัมผัสเชื้อไวรัสจากละอองฝอยในอากาศ เมื่อผู้ป่วยไอ จาม หรือพูดคุย คนทั่วไปอาจสูดรับเชื้อโรคทางลมหายใจหรือสัมผัสเชื้อที่ติดอยู่บนพื้นผิวของวัตถุ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือคีย์บอร์ด โดยสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ 1 วันก่อนแสดงอาการ และยังสามารถแพร่เชื้อได้ต่อไปอีก 5 วันหลังแสดงอาการ ผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องจะสามารถแพร่เชื้อได้นานกว่า
ที่น่ากังวลคือ มีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หากได้รับวัคซีนหรือป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่มาก่อน ร่างกายมักมีภูมิต้านทานโรค หากเชื้อไวรัสตัวใหม่นั้นมีความใกล้เคียงกับเชื้อตัวเก่าที่เคยเป็น ร่างกายจะมีแอนติบอดีป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไประดับแอนติบอดีในร่างกายจะลดลง หากสัมผัสกับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ร่างกายไม่เคยรู้จักมาก่อน แอนติบอดีที่มีอยู่เดิมจะไม่สามารถสู้กลับและป้องกันการติดเชื้อได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่ กลุ่มเสี่ยงที่สุดคือ เด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี และผู้ใหญ่ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป อาศัยหรือทำงานในที่แออัด มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็ง โรคมะเร็งเม็ดเลือด โรคเอชไอวี/เอดส์ การปลูกถ่ายอวัยวะ การใช้สเตียรอยด์หรือยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจ โรคตับ โรคเลือด โรคระบบประสาท กระบวนการทำงานทางชีวเคมีผิดปกติ ปัญหาระบบทางเดินหายใจ หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะระหว่างไตรมาสที่ 2 หรือ 3 โรคอ้วน
โดยทั่วไป คนหนุ่มสาวซึ่งมีสุขภาพดีมักหายจากไข้หวัดใหญ่ได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะหายใจลําบากเฉียบพลัน โรคหอบหืดกำเริบ หลอดลมอักเสบ หูอักเสบ โรคหัวใจ โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ ซึ่งอันตรายมากในผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะสามารถลดความรุนแรงของอาการและการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทั้งนี้ อาการของโรคไข้หวัดใหญ่และ COVID-19 มีความคล้ายคลึงกัน การฉีดวัคซีนไข้หวัด ใหญ่สามารถลดและป้องกันความสับสนระหว่างโรคทั้งสองได้
ส่วนที่มีข้อสงสัยเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 และไข้หวัดใหญ่ในเวลาเดียวกันนั้นทำได้หรือไม่ คำตอบคือทำได้ และการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ยังสามารถทำได้ในกรณีผู้แพ้ไข่ขาวด้วย อย่างไรก็ตาม วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% สุขอนามัยที่ดีจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยป้องกันการติดเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ล้างมือเป็นประจําด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่สัมผัสตา จมูก และปาก เมื่อจะจามหรือไอ ควรจามหรือไอใส่ข้อศอกหรือกระดาษทิชชู่ และล้างมือทุกครั้ง ทำความสะอาดโทรศัพท์หรือพื้นผิวของสิ่งของที่สัมผัสบ่อย หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด โดยเฉพาะในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาด หลีกเลี่ยงไม่ใกล้ชิดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
การตรวจวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่ทำได้โดยการตรวจร่างกาย ซักอาการป่วย และทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมในช่วงที่ไข้หวัดใหญ่ระบาด ผู้ป่วยสามารถติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และ COVID-19 ได้พร้อมกัน และอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยทั้งสองโรค
การรักษาไข้หวัด ใหญ่ เริ่มง่ายๆเลยคือ การพักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ เช่น น้ำผลไม้ น้ำเปล่า หรือซุปอุ่นๆ เพื่อให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ พักผ่อนและนอนหลับเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ดีขึ้น รับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการไข้หวัดใหญ่ เช่น อาการปวดหัวและปวดเมื่อย และควรพักผ่อนอยู่บ้านจนกว่าจะหายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในครอบครัวและชุมชน งดพบปะผู้อื่นเมื่อป่วย ล้างมือบ่อยๆ หากมีความจำเป็นต้องออกจากบ้านหรือไปโรงพยาบาลให้สวมหน้ากากอนามัยเสมอ
แหล่งที่มา:
https://www.thairath.co.th/lifestyle/health-and-beauty/2746575