News
เหตุการณ์โรคในประเทศ
หน้าหนาว! 7 กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เสี่ยงอาการหนักรุนแรง!
26/12/2566
เหตุการณ์โรคในประเทศ

จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขโดยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า ช่วงสัปดาห์ที่ 47 - 50 ระหว่างวันที่ 19 พฤศจิกายน - 16 ธันวาคม 2566 ได้เก็บตัวอย่างจากระบบทางเดินหายใจของผู้ที่มาโรงพยาบาลด้วยกลุ่มอาการทางเดินหายใจ ในโรงพยาบาลเครือข่าย 14 แห่ง พบการระบาด ไข้หวัดใหญ่ในสัดส่วนที่สูงถึง 42% ซึ่งไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้ออินฟลูเอนซา (Influenza, Flu) จะระบาดในฤดูหนาว ซ้ำร้ายเจ้าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่นี้ยังพัฒนาสายพันธุ์อย่างสม่ำเสมอ
ทำให้ในทุกๆ ปี องค์การอนามัยโลก (WHO) จะต้องเลือกเชื้อไวรัสตัวสำคัญที่คาดว่าจะมีการระบาดมากมาพัฒนาเป็นวัคซีนใหม่ๆ และประกาศให้ใช้ในแต่ละแถบซีกโลก
7 กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดใหญ่แล้วอาการหนัก
ไข้หวัดใหญ่ติดต่อได้ง่ายผ่านการไอ จาม หรือแม้แต่การพูดคุยใกล้ชิดกับผู้ป่วย หากมีการสูดเอาละอองในอากาศที่มีเชื้อไวรัสเข้าไป ประกอบกับร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีพอ ก็จะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายและมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้สูง ซึ่งกลุ่มเสี่ยงที่ว่านี้ มีอยู่ 7 กลุ่ม คือ
- เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี เนื่องจากเด็กแรกเกิดจนอายุ 2 ปี ยังอยู่ในช่วงสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ร่างกายจึงยังต้านทานเชื้อไวรัสได้ไม่ดีพอ เมื่อติดเชื้อจึงมีอาการค่อนข้างรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
- สตรีมีครรภ์ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์มักมีความเสถียรของภูมิคุ้มกันที่ไม่แน่นอนจากการที่ต้องแบ่งสารอาหารต่างๆ ให้แก่ลูกน้อยในครรภ์ จึงง่ายต่อการติดเชื้อและเจ็บป่วย
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน BMI การที่ร่างกายมีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ BMI หรือ Body Mass Index 25 ขึ้นไปนั้น จะทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายทำงานหนักกว่าที่ควรจะเป็น หากอยู่ในภาวะนี้นานๆ ระบบต่างๆ ของร่างกายก็จะเสื่อมเร็วขึ้น ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- ผู้พิการทางสมองในกรณีที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ กรณีผู้พิการทางสมอง การใช้ชีวิตประจำวันก็จะแตกต่างจากคนทั่วไปอยู่แล้ว การออกกำลังกายก็น้อย การดูแลป้องกันตนเองจากโรคภัยไข้เจ็บก็ทำได้ไม่ดีเท่าคนปกติ ทำให้เจ็บป่วยได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ภูมิคุ้มกัน คือเกราะป้องกันเชื้อโรค ไม่ว่าจะเชื้อไวรัสหรือเชื้อใดๆ ดังนั้นใครก็ตามที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายและเล่นงานอวัยวะต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
- ผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง โรคเรื้อรังในที่นี้หมายถึง โรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคไต ที่ต้องให้การรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ป่วยโรคเรื้อรังจะมีสภาพร่างกายที่เอื้อต่อการติดเชื้อและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย
- ผู้สูงวัย อายุ 65 ปีขึ้นไป เมื่ออายุมากขึ้นและพ้นวัยของการเจริญเติบโตมานาน ระบบต่างๆ ในร่างกายก็มีแต่จะเสื่อมถอย รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันด้วย เหตุนี้เองจึงทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ทั้งยังก่อให้เกิดอาการที่รุนแรงกว่าด้วย
แหล่งที่มา :